ผศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เตือน-ธุรกิจหลอกลวงสเต็มเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ อยากที่จะทำให้คนไทยมีความรู้เรื่องสเต็มเซลล์ที่ถูกต้อง เพื่อไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของนักธุรกิจเสื้อกาวน์ได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันเป็นการพัฒนาวิธีการรักษาโรคใหม่จากเทคโนโลยีสเต็มเซลล์มีความเป็นไปได้จริงแต่ยังไม่ใช่ในปัจจุบัน ที่มีข่าวใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นใช้ต้านวัยชรา ใช้เสริมความงาม ไปจนถึงรักษาโรคเรื้อรังที่ไม่มีทางหายเช่น อัมพาตร ไตวาย สมองเสื่อม นั้นเป็นการเกาะกระแสความดังระดับโลกของงานวิจัยสเต็มเซลล์ในหลอดทดลองซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วใน 10 ปีที่ผ่านมา นำมาหาผลประโยชน์ โดยที่ยังไม่มีข้อมูลหรือแม้แต่หลักการทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน นำมาหลอกลวงขายในราคาแพงมากทั้งที่บางครั้งอาจเป็นเพียงการฉีดน้ำเปล่าหรือเซลล์ที่ไม่ใช่สเต็มเซลล์ มีการให้ข้อมูลต่อคนไข้ที่ไม่ถูกต้อง และไม่แจ้งถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆว่าสเต็มเซลล์เป็นเซลล์วิเศษเป็นโรคอะไรฉีดเข้าไปก็รักษาได้
จริงๆแล้ว สเต้มเซลล์มีหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่แหมือนกัน สำหรับวงการแพทย์ทั่วโลกการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่เป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลจริงในปัจจุบันนับแค่การใช้สเต็มเซลล์จากระบบเลือดรักษาโรคเลือดต่างๆ เท่านั้น การใช้สเต็มเซลล์โรคเช่นข้อเข่าเสื่อม-กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด—เชื่อมกระดูกยังเป็นระดับการทดลอง มีที่ได้ผลเล็กน้อยบ้างแต่ยังไม่ได้ผลน่าพอใจจนเป็นการรักษามาตรฐาน ส่วนอื่นๆเช่นโรคสมอง ฉีดรกแกะ ชะลอความแก่ ลดความเหี่ยวย่น กล่าวได้ว่ายังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือแม้ในระดับสัตว์ทดลอง
Stem cell “
สเต็มเซลล์” แสงสว่างของผู้ป่วยที่แฝงด้วยมุมมืด!
กว่า 10 ปีมาแล้วที่ชื่อของ “สเต็มเซลล์” ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างมากในวงการแพทย์ถึงนวัตกรรมการรักษาที่ก้าวหน้า และในหมู่ประชาชนเอง “สเต็มเซลล์” ก็กลายเป็น “ความหวัง” สำคัญสำหรับผู้ที่กำลังประสบภาวะโรคร้ายแรง รักษาไม่หายขาด รวมทั้งครอบครัวของผู้ป่วยเหล่านั้น จนกระทั่งแพทยสภาประกาศว่าการใช้สเต็มเซลล์ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายเมื่อหลายปีก่อน หลายคนรู้สึกว่าแพทยสภาล้าหลัง ไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งๆ ที่มีความหวัง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเรื่อง “สเต็มเซลล์” ยังไม่ได้มีผลวิจัยที่ระบุอย่างชัดเจนว่าปลอดภัยต่อผู้ป่วย แต่ธุรกิจทางการแพทย์ต่างๆ ได้เตรียมจับจ้องเอาชื่อของ “สเต็มเซลล์” หารายได้กันอย่างไม่แคร์จริยธรรมเป็นดอกเห็ด
ปัจจุบัน ผศ.นพ.นิพัญจน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell and Cell Therapy Research Unit) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย!
ผศ.นพ.นิพัญจน์เล่าว่า สเต็มเซลล์ในประเทศไทยเวลานี้หากหมายถึงเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์แล้ว สเต็มเซลล์ก็เป็นความหวังสำคัญสำหรับแพทย์ และผู้ป่วย ในการรักษาโรคร้ายต่างๆ มากมาย แต่ก็ต้องเข้าใจว่าขณะนี้การใช้สเต็มเซลล์มารักษาทางการแพทย์ในประเทศไทย และแม้แต่ในต่างประเทศเองนั้น มีการรับรองการใช้แค่รักษาโรคที่เกี่ยวกับโรคเลือดต่างๆ เพราะผ่านการวิจัยมาแล้วว่าปลอดภัยพอสำหรับมนุษย์ แต่การนำสเต็มเซลล์มารักษาโรคอื่นนั้น ยังเป็นเพียงการอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง หรือการทำวิจัยเท่านั้น
หมอนิพัญจน์ยืนยันว่าไม่มีโรงพยาบาลใดทั้งรัฐบาล และเอกชนที่ได้รับการรับรองการรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่ใช่โรคเลือดเลยแม้แต่โรงพยาบาลเดียว
ดังนั้น ที่เห็นโฆษณาว่า รพ.นี้มีการใช้สเต็มเซลล์ หรือบางแห่งเลี่ยงบาลีด้วยการใช้คำว่า เซลล์บำบัด มารักษาคนไข้ได้ เห็นผลอย่างนั้นอย่างนี้ ถือว่าเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง!
ถึงวันนี้คนไข้ทุกคนต้องรู้ตัวว่ากำลังถูกหลอก เพราะทุกโรงพยาบาลนำสเต็มเซลล์มารักษาได้เฉพาะในขั้นตอนของการทดลองวิจัย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิต ดังนั้นหากแพทย์โรงพยาบาลไหนรักษาคนไข้ด้วยสเต็มเซลล์ในเวลานี้ จึงไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากคนไข้ได้ เพราะเป็นเพียงการทดลอง แพทย์โรงพยาบาลไหนเรียกเก็บเงินการรักษา จึงถือว่าทำผิดวินัยทางการแพทย์!
Cell Therapy จริงหรือหลอก?
อย่างไรก็ดี หลายๆ ประเทศมีการใช้ “ความเชื่อ” ในการรักษาพยาบาลมาอย่างยาวนานด้วย โดยเฉพาะกรณีการรักษาที่เรียกว่า Cell Therapy หรือเซลล์ซ่อมแซมรักษา
ผศ.นพ.นิพัญจน์อธิบายว่า Cell Therapy หรือการใช้เซลล์เพื่อรักษาโรคนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นศาสตร์จริงที่กำลังมีการศึกษาพัฒนา เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานในปัจจุบัน การใช้เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การใช้ mesenchymal stem cell จากไขกระดูกเพื่อรักษาภาวะภูมิต้านทานจากเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่าย ที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ยอมรับแต่ยังอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อทดสอบพัฒนาประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้คำว่า cell therapy ในสิ่งที่ที่อาจไม่ตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แต่มาจากความเชื่อ เช่นเชื่อว่าร่างกายเซลล์ชนิดใดเสียก็ฉีดเซลล์ชนิดนั้นเข้าไป ทั้งๆที่ในทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าต่อให้มีเซลล์ชนิดที่ต้องการ การจะนำไปปลูกถ่ายให้เซลล์เชื่อมกับเซลล์ร่างกายโดยสมบูรณ์ มีการทำงาน และอยู่ในร่างกายอย่างยาวนานเป็นไปได้ยากมาก การฉีดเข้าเลือดหรือแม้แต่ฉีดเข้าอวัยวะส่วนใหญ่เซลล์ที่ฉีดจะหายไปจากร่างกายใน 24 ชั่วโมง ในส่วนที่เป็นความเชื่อนี้มีไปจนถึงการฉีดเซลล์สัตว์ ซึ่งในทางการแพทย์การฉีดเซลล์สัตว์มีโอกาสเกิดอันตรายได้หลายๆอย่าง มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต ทำให้หลายๆประเทศรวมทั้งไทยห้ามการฉีดเซลล์สัตว์เข้าในร่างกายมนุษย์
“Cell Therapy ที่ทำตามความเชื่อ มีมานานแล้ว เกือบ 100 ปี แต่ถามว่าพิสูจน์ในวงการรักษาหรือยัง ตรงนี้ ไม่มีพื้นฐานทางวิชาการรองรับ แต่บางประเทศก็เอาเรื่องนี้ออกยาก เพราะอยู่ในวงการมานานแล้ว เช่นบางประเทศในยุโรปแต่อย่าลืมว่าหมอมีหน้าที่พัฒนาความรู้มารักษาคน ถ้าองค์ความรู้เดิมดี แน่นอนว่าหมอจะต้องลงไปศึกษาแล้วหาทางว่าจะเอามารักษาอย่างไร ต้องถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางแล้ว แต่ ที่รักษากันมาเป็น 100 ปี ก็ยังไม่มีข้อสรุป โอกาสที่จะเป็นจริงมันก็ต่ำมาก”
พอมาถึงเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีการนำเซลล์กระดูกมารักษาโรคเลือดจริงๆ บางคนก็เลยเรียกว่า Cell Therapy ด้วย ที่รักษาโรคเลือดบางประเภทได้ ไขกระดูกเสื่อม ไขกระดูกฝ่อ โรคพันธุกรรมของระบบเลือดอันนี้รักษาแล้วหายจริงได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกโรคที่เกี่ยวกับเลือดจะได้ผลดีกับทุกคนหมด ต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ ขึ้นอยู่กับการรักษาแบบเคสต่อเคสด้วย เช่น ธาลัสซีเมียนั้น การปลูกถ่ายเซลล์ในเด็กจะได้ผลดีกว่าผู้สูงอายุ และมีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน เพราะการรักษาไขกระดูกจะต้องมีการให้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุก็จะหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ยากกว่าเด็กด้วย ซึ่งธาลัสซีเมียในขณะนี้รักษาด้วยยาจะได้ผลดีกว่า
สำหรับโรคกลุ่มมะเร็งในเลือดหรือมะเร็งอวัยวะอื่น เป้าหมายไม่ใช่ว่าเราจะใช้เซลล์ที่ฉีดเข้าไปไปฆ่ามะเร็ง แต่เราจะใช้ยาที่รุนแรงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งซึ่งก็จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายไปด้วย จึงจะต้องปลูกระบบเลือดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่จะใช้เซลล์คนอื่นมากกว่าเซลล์ของตัวเอง แต่ต้องเป็นเซลล์ที่เข้ากันได้ เพราะกลัวว่าเซลล์ของตัวเองจะมีเชื้อมะเร็งอยู่ในเลือดก็จะกลับมาเป็นมะเร็งใหม่
จุดนี้มาถึงกรณีความเชื่อที่สำคัญที่มีการทำธุรกิจเก็บเซลล์เลือด (Code Blood) ว่าแท้จริงแล้วจะนำมาใช้กับโรคอะไรได้บ้าง คำตอบคือถ้าหวังจะนำมาใช้กับตัวเองแทบไม่มีเลย ที่cord blood นำไปใช้ในโรคต่างๆ เกือบทั้งหมด เป็นการนำไปใช้รักษาผู้อื่นหรือญาติ โรคพันธุกรรมเช่น ธาลัสซีเมีย ย่อมไม่ใช้เพราะเซลล์เราก็มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอยู่ดี โรคมะเร็งระบบเลือดก็กลัวว่าcord blood เราจะมีเซลล์มะเร็งอยู่
“ปัจจุบันเราเริ่มพบสเต็มเซลล์ในหลายอวัยวะ สเต็มเซลล์มาจากอวัยวะไหนก็จะเอามาใช้สร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นได้ในหลอดทดลอง แต่การนำไปใช้รักษาอวัยวะนั้นๆยังต้องพัฒนาเป็นกรณีๆไป ที่สเต็มเซลล์เลือดใช้ปลูกถ่ายง่ายเพราะเมื่อฉีดเข้าเลือดจะวิ่งไปไขกระดูกเอง สเต็มเซลล์อวัยวะอื่นๆปลูกถ่ายยากกว่าเช่น สเต็มเซลล์สมองแม้ฉีดเข้าไปในสมองก็ยากที่จะกลายเป็นเซลล์ประสาทชนิดที่ต้องการที่บริเวณที่เหมาะสม และส่งรากประสาทไปเชื่อมกับเซล์ประสาทที่อยู่ในสมองและไขสันหลังอย่างถูกต้องต้องหาวิธีที่จะนำสเต็มเซลล์ไปใช้ในจุดที่เราต้องการใช้ได้จริงด้วย
“ยังเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าฉีดเซลล์เข้าไปแล้ว อวัยวะไหนที่บาดเจ็บ เซลล์จะวิ่งไปหาเองเสมอ มีคนใช้คำพูดที่สวยหรูว่า Stem Cell Homing เป็นความจริงครึ่งเดียว สเต็มเซลล์จากไขกระดูกบางชนิดมีการวิ่งไปอวัยวะที่บาดเจ็บจริง แต่เมื่อไปถึงแล้วทำอะไร ช่วยมากน้อยแค่ไหนยังเป็นที่ถกเถียงกันแต่ที่แน่ๆ สเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูกหรือไขมันไม่กลายไปเป็นเซลล์สมองหรือเซลล์หัวใจแน่ ถ้าใช้สเต็มเซลล์ชนิดอื่นฉีดเข้าเส้นเลือดปรากฏการณ์ homing ไม่แน่ชัด จากข้อมูลในโดยทั่วไปในสัตว์ทดลองมักหายไปจากร่างกายใน 24-48 ชั่วโมง